วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ความหมายศักยภาพ
    หมายถึงความสามารถที่ยังไม่พัฒนา หรือยังไม่พัฒนาเต็มที่ ศักยภาพเป็นพลังภายใน พลังที่ซ่อนไว้หรือพลังแฝงที่ยังไม่ได้แสดงออกมาให้ปรากฏ หรือออกมาบ้างแต่ยังไม่หมด เช่น เมล็ดมะม่วงมีศักยภาพที่จะโตเป็นต้นมะม่วงถ้าหากได้ดินดี น้ำดี แดดดี ปุ๋ยดี เด็กจำนวนมากที่มีศักยภาพที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและเก่งถ้าหากได้รับการ เลี้ยงดูที่ดี การศึกษาที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี
     ทางปรัชญา ศักยภาพ ( potential-potentiality ) ตรงกันข้ามกับคำว่า กรรตุภาพ หรือภาวะที่เป็นจริง ( actual-actuality ) หรือเรียกกันด้วยภาษาง่ายๆว่า ภาวะแฝง (potential ) กับภาวะจริง ( actuality ) ศักยภาพ (ภาษาละติน potentia ) เป็นภาวะที่เปลี่ยนแปลงได้ เป็นไปได้ เกิดขึ้นได้ ตรงข้ามกับภาวะจริง( actus ) ซึ่งในปรัชญาตะวันตกตั้งแต่อริสโตเติล พูดถึงความสมบูรณ์ ( perfection ) ว่าเป็นภาวะความจริงที่บริสุทธิ์ 
actus purus ( pure action ) เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ความหมายสมรรถภาพ
             สมรรถภาพ (Competence หรือEfficiency) หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ทักษะ เจตคติ อุปนิสัย หรือ บุคลิกภาพของบุคคล  เพื่อที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  
            ฉะนั้น “การพัฒนาศักยภาพและสมรรถภาพของครู” จึงหมายถึง การส่งเสริมพัฒนาครูให้แสดงความสามารถสูงสุดอันเป็นคุณสมบัติที่แฝงอยู่ในตัวให้ปรากฏออกมาเป็นที่ประจักษ์แก่นักเรียนและต่อสังคม

การพัฒนาศักยภาพและสมรรถภาพของครูให้เป็นครูที่ดีและประสบความสำเร็จในวิชาชีพครูอาจดำเนินการได้อย่างน้อย 3 ทางคือ
1. การพัฒนาศักยภาพและสมรรถภาพตนเองของครู เช่น  การฝึกอบรมการปฏิบัติงาน  การประชุมทางวิชาการ  การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  การช่วยเหลือเพื่อนครูในการทำงาน  การเสนอรายงานพัฒนาผู้เรียนและกิจกรรมอื่นๆซึ่งเป็นการฝึกฝนที่ครูเลือกปฏิบัติด้วยตนเองตามศักยภาพ จุดเด่นจุดด้อยและโอกาสของตน
2. การพัฒนาศักยภาพและสมรรถภาพของครูโดยสถานศึกษา   เป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคคลอย่างเป็นกระบวนการและเป็นระบบ มีกิจกรรมต่างๆ  เช่น  การส่งเสริมให้ไปศึกษาอบรม  ดูงานสาขาวิชาที่ปฏิบัติงานอยู่  สนับสนุนให้ไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น  ให้ทุนการวิจัยให้ไปเป็นวิทยากรในหน่วยงานอื่น  การแลกเปลี่ยนบุคลากร  ส่งเสริมการเขียนตำรา  สนับสนุนให้เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพทั้งใน
และต่างประเทศ
  และอนุญาตให้ไปปฏิบัติงานด้านวิชาการโดยไม่ถือว่าเป็นการลา  เหล่านี้ เป็นต้น
 3. การพัฒนาศักยภาพและสมรรถภาพของครูโดยหน่วยงานกลาง  อาจเป็นหน่วยงานต้นสังกัดการบริหารบุคคล  เช่น  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือหน่วยงานอื่น  ของ กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงมหาดไทย  เป็นต้น  ที่มีการพัฒนาทุกด้านอย่างต่อเนื่อง  และการพัฒนาโดยองค์กรวิชาชีพคือ คุรุสภา  เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานแห่งวิชาชีพครูและการถือครองใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพครูอีกด้วย  นอกจากนั้นอาจมีการพัฒนาโดยองค์กร   ชมรม  สมาคมหรือกลุ่มวิชาชีพที่ผู้ประกอบวิชาชีพรวมตัวกันเพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายอย่างเพื่อผลประโยชน์แห่งวิชาชีพครูของพวกตนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
              สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้สรุปว่า การพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อยกระดับคุณภาพครูสู่มาตรฐานวิชาชีพควรเป็นการพัฒนาที่ครูได้ฝึกฝนตนเองในสภาวะของการปฏิบัติงานปกติ   สร้างโอกาสให้ครูได้ทำกิจกรรมตามความถนัด  ความสนใจ  ด้วยวิธีการต่างๆหลากหลายครูจะแสดงบทบาทในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ  แตกต่างกันตามระดับคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพ  ซึ่งสามารถวิเคราะห์การแสดงออกของครูใน 3 มิติ ดังนี้
มิติที่ 1 ระดับฝีมือของครู  เป็นระดับคุณภาพในการดำเนินงานการจัดทำแผนการสอนการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูนำมาใช้  โดยมีระดับฝีมือที่กำหนดคุณภาพไว้กว้าง 3 ระดับ คือ
                                คุณภาพระดับต่ำ เป็นการปฏิบัติตามแบบตามตัวอย่างที่ผู้อื่นกำหนดไว้หรือปฏิบัติให้เห็นแล้วนำมาใช้โดยไม่คำนึงถึงบริบทอื่น
                                คุณภาพระดับกลาง เป็นการปฏิบัติที่ครูพัฒนาขึ้นเองสอดคล้องกับผู้เรียนท้องถิ่นศักยภาพและความถนัดของครู
                                คุณภาพระดับสูง เป็นการปฏิบัติที่มีความชำนาญแตกฉานจนสามารถเป็นผู้แนะนำช่วยเหลือ  เป็นแบบอย่างหรือเป็นที่ปรึกษาร่วมพัฒนาให้กับครูคนอื่นๆได้
มิติที่ 2 การเพิ่มบทบาทของผู้เรียน
                                เป็นการพัฒนาผู้เรียนจากความสามารถขั้นต่ำไปสู่ความสามารถขั้นสูง  จากผู้เรียนอธิบายด้วยตนเองสู่ผู้เรียนออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองสู่ผู้เรียนสร้างความรู้ได้เองเป็นการพัฒนาคุณภาพสูงขึ้นโดยกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูแสดงออก ครูจะต้องเป็นผู้นำทาง โดยการจัดขั้นตอนของกิจกรรมเป็นลำดับ นำไปสู่การคิดได้เอง และการสร้างความรู้ได้เอง
                มิติที่ 3 ผลที่เกิดกับผู้เรียน
                                 นักเรียนจะต้องได้รับการพัฒนาความสามารถจากความจำ สู่ ความคิด  สู่ การกระทำ สู่ ค่านิยม  และสู่การปฏิบัติเป็นนิสัยติดตัวด้วยค่านิยมที่พึงประสงค์จึงจะเป็นผลผลิตของครูมืออาชีพที่มีคุณภาพระดับสูง ขอบข่ายสาระของการพัฒนาครูจึงกำหนดแนวทางพัฒนาครูโดยเริ่มจากฝึกฝนตนเองของครู  การแสดงออกของครูและผลที่เกิดกับนักเรียน

              การพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพครูมืออาชีพนั้นจะต้องได้รับการพัฒนาปรับปรุงด้วยตัวเองมาเป็นลำดับ โดยผู้บังคับบัญชาได้เสนอวิธีการพัฒนาตนเองบางประการเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ  เช่น ฝึกตนเองให้ตรงต่อเวลา ทุกคนมีเวลาเท่ากัน ผู้ที่บริหารเวลาเก่งจะต้องยึดมั่นในหลักการพื้นฐาน  ได้แก่  มีความกระตือรือร้นและมีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาไม่ผัดวันประกันพรุ่งในการทำงานทุกประเภททั้งงานเล็กงานใหญ่ ให้ความสำคัญเท่าเทียมกันเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ  เป็นคนขยันขันแข็ง เป็นคนทำงานรวดเร็วลักษณะคนทำงานรวดเร็ว  ฝึกตนให้มีความเชื่อมั่นในตนเอง  ทำให้ตนเป็นที่ต้องใจของผู้อื่น ทำตนให้รู้จักกาลเทศะ  และทำให้ตนเองเป็นที่น่าเชื่อถือ


คุณภาพ ๓ ประการ : ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพศิษย์
-                   คุณภาพการจัดการศึกษา
        ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษาที่สำคัญ   ได้แก่   การกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับบริบท  นโยบายต้องมีความต่อเนื่อง  ชัดเจนและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ที่สำคัญ คือ  ต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  นอกจากนี้ ต้องมีครูอาจารย์ประจำหลักสูตรที่มีคุณวุฒิ/ความรู้  ผู้บริหารมีคุณภาพ  มีอาคารสถานที่เหมาะสม  ห้องเรียนมีชีวิต  และสถานศึกษาต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ
-                   คุณภาพครู
        คือ  ภาพสะท้อนจากคุณภาพศิษย์  ดังนั้น ครูจึงเป็นหัวใจของการพัฒนาศิษย์  โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพครู  ได้แก่  ครูที่มีความรู้  มีความใฝ่รู้  และมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ  มีความรัก  ความเมตตา  ปรารถนาดีต่อศิษย์  ทุ่มเท  เสียสละ  ทำงานเต็มศักยภาพ  มีความภาคภูมิใจต่อวิชาชีพ  มีจิตวิญญาณความเป็นครูและมีทัศนคติที่ดี
-                   คุณภาพการประเมิน
        หมายรวมถึง  การประเมินตนเอง (IQA) การประเมินภายนอกด้วยกัลยาณมิตร (EQA) การประเมินเพื่อพัฒนาและการสร้างคุณค่าต่อสังคม  โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพการประเมิน  ได้แก่  การที่ผู้ประเมินและผู้รับการประเมินมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อการประเมิน  การประเมินที่จะต้องสะท้อนสภาพจริง  การมีส่วนร่วมในการประเมินของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  รวมถึงการนำผลประเมินไปใช้เพื่อการพัฒนาและนำไปสู่วิถีชีวิตคุณภาพต่อไป
         จะเห็นได้ว่า  “คุณภาพศิษย์ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของการจัดการศึกษา  คุณภาพของครู  รวมถึงคุณภาพของการประเมิน  ซึ่งเป็นพันธกิจที่สำคัญของ สมศ.  ดังนั้น สมศ. จึงได้กำหนด  “เป้าหมายสูงสุดของการประเมิน คือ  “คุณภาพศิษย์”  เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึง  “คุณภาพ ที่เกิดขึ้นจริงกับตัวผู้เรียนที่เป็นผลผลิตจากสถานศึกษา  ดังนั้น คุณภาพศิษย์ จึงเป็นเป้าหมายของการประเมิน
         ในโอกาสนี้อยากจะขอนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในวงการการศึกษาน้อมนำไปปฏิบัติร่วมกัน ความว่า“...เมื่อทำงานอย่าหยิบเอาความขาดแคลนมาเป็นข้ออ้าง  จงทำงานท่ามกลางความขาดแคลนให้บรรลุผล
               “การเป็นคนเก่ง  ดี  และมีคุณค่านั้นจะทำให้เกิด ความสุข ขึ้นได้  ความสุข คือ  สุขอย่างคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ  ซึ่ง คุณภาพชีวิตที่ดีเกิดจากการพัฒนาใน ๔ มิติ คือ  กาย  จิต  ปัญญา  และสังคม